โรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน (Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีน้ำหนักและปริมาณไขมันใต้ชั้นผิวหนังเกินมาตรฐาน ซึ่งการที่เราจะตัดสินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก ÷ ส่วนสูง (เมตร)2
น้อยกว่า 18.5 | ผอม |
18.5 – 22.9 | ปกติ |
23 – 24.9 | น้ำหนักเกิน |
25 – 29.9 | อ้วนระดับ1 |
มากกว่าหรือเท่ากับ 30 | อ้วนระดับ2 |
สาเหตุการเกิดโรคอ้วน
มักจะเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ หรือรับประทานอาหารจุกจิกไม่เป็นเวลา ความเครียด กรรมพันธุ์จากครอบครัว ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานยาหรือวิตามินที่ทำให้เจริญอาหาร โรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม และความผิดปกติของการทำงานที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ จึงทำให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ เช่น การผลิตอินซูลินหรือฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ ซึ่งมีผลทำให้อยากอาหารมากขึ้น
ผลกระทบจากภาวะโรคอ้วน
หากเรามองอย่างผิวเผินอาจจะคิดว่าโรคอ้วนไม่ได้มีผลเสียอะไรมากมาย แค่เพียงทำให้บุคลิกดูไม่ดี แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว โรคอ้วนสามารถก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่สะดวกเหมือนคนทั่วไปที่มีรูปร่างปกติ
- เสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบต่างๆ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)
- ระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคไขมันพอกตับ (Non – alcoholic fatty liver disease) โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ระบบกระดูกและข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โรคข้ออักเสบหรือเก๊าท์ (Goutyarthritis)
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด (Asthma) โรคปอดอักเสบอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea)
- ระบบสืบพันธุ์ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะมีบุตรยาก
- เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่
- ปัญหาทางจิตใจ เนื่องจากเป็นปมด้อยในชีวิต จึงทำให้เกิดความเครียด หงุดหงิด วิตกกังวล จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า
- ปัญหาด้านสังคม ส่งผลทำให้ไม่มั่นใจในการเข้าสังคม เกิดปัญหาในครอบครัว และมีผลเสียในการประกอบอาชีพบางอาชีพที่เน้นบุคลิกเป็นเรื่องสำคัญ
วิธีรักษาโรคอ้วน
สำหรับโรคอ้วนที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการทำงานที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ หรือเกิดจากโรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมไปถึงภาวะเครียดที่ส่งผลให้เจริญอาหารนั้น ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะให้ยารักษาตามอาการของแต่ละคน
การดูแลตนเองสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารที่ใช้ไขมันหรือน้ำมัน ทานเนื้อสัตว์ที่ไขมันต่ำและไม่ติดหนัง ทานข้าวหรือแป้งในปริมาณที่พอดี เลือกผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัดเป็นอาหารว่าง เช่น ชมพู่ ฝรั่ง แอปเปิ้ล ทานผักสดให้มากขึ้นเป็นสองเท่าจากปกติ
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและนานขึ้น เนื่องจากสมองจะเริ่มสั่งการให้รู้สึกอิ่มเมื่อเวลาผ่านไป 20 นาที จึงทำให้เรารับประทานได้น้อยลง
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมเปรี้ยวชนิดพร้อมดื่ม
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ สาเก
- หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์พร้อมกับรับประทานอาหาร
- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้ออาหาร โดยพิจารณาถึงพลังงานที่จะได้รับ
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย
โรคอ้วนเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราดำรงชีวิตให้ถูกสุขลักษณะการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ รับรองว่าความอ้วนจะไม่มีวันมาย่ำกรายคุณแน่นอนค่ะ